บทนำและสภาพปัญหา
สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนและสังคม นอกจากนั้น สถาบันฯ ยังมีความมุ่งมั่นในการสร้างมาตรฐานในงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อยกระดับการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ของไทย ให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล การพัฒนาหน่วยงานและให้องค์ความรู้แก่บุคลากรภายในของสถาบันฯ จึงเปรียบเสมือนบันไดที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ ด้วยเหตุผลเดียวกัน กลุ่มตรวจสอบอาวุธปืนและวัตถุพยานทางฟิสิกส์ ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงาน เพื่อสนับสนุนงานการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ โดยมีภารกิจหลักคือการให้บริการด้านการตรวจสอบอาวุธปืน, เครื่องกระสุนปืนและวัตถุพยานประเภท Trace Evidences เมื่อมีการร้องขอจากพนักงานสอบสวน. Trace Evidence เป็นวัตถุพยานที่ส่วนมากมักมีขนาดเล็ก และมีปริมาณเพียวเล็กน้อย แต่มีความหลากหลายมาก เข่นเส้นขน, เส้นผม, เส้นใย ไฟเบอร์ DNA เศษสีรถยนต์ หมึกปากกา รวมถึงแก้วและกระจกด้วย
แก้วและกระจกจัดว่าเป็น Trace Evidence ประเภทหนึ่ง ซึ่งในทางกระบวนการสืบสวนทางนิติวิทยาศาสตร์ และคุณค่าถ้าวัตถุพยานสามารถเชื่อมโยงไปถึงตัวผู้กระทำผิดได้ ดังนั้นขนาดของวัตถุพยานมิได้เป็นตัวกำหนดคุณค่าของวัตถุพยานนั้น ถ้าเกิดการก่ออาชญากรรมขึ้น แล้วเศษแก้วหรือกระจกชิ้นเล็กๆ นั้นสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานเชื่อมโยงถึงตัวผู้กระทำผิดได้ เช่น คดีอุบัติเหตุจราจร ประเภทชนแล้วหนี(hit and run), การบุกรุกอาคาร เคหะสถานเพื่อทำการโจรกรรม(Break in), คดีทำร้ายร่างกาย หรือตัวอย่างการชุมนุมประท้วงที่มีการทุกกระจก ห้างร้านและเผาทำลาย ที่ผ่านมา เศษแก้วหรือกระจกซึ่งพบอยู่ในสถานที่เกิดเหตุ อาจติดอยู่ตามเสื้อผ้าของตัวผู้บุกรุก หรือผู้กระทำผิดก็อาจเกิดการแลกเปลี่ยน (Exchanged) ในระหว่าง Contact ตาม Locard's Exchange Principle ที่ว่า "Every Contact Leave a Trace" ซึ่งสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ ระหว่าง วัตถุพยาน-สถานที่เกิดเหตุ-ผู้กระทำความผิด เข้าด้วยกันจนนำไปสู่การจับกุมและการบังคับใช้กฏหมายได้ ผู้ที่ปฏิบัติงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ที่ ดี ควรตระหนักถึงความสำคัญ และไม่อาจละเลยวัตถุพยานหรือลดความสำคัญของวัตถุพยานลง เพียงเพราะเงื่อนไขด้านขนาดเท่านั้น
เดิมทีวิธีการตรวจพิสูจน์หลักฐานประเภทแก้วและกระจกที่ใช้กันอยู่ คือ “การตรวจวัดค่าดัชนีหักเห” ; refractive index; index of refraction ; RI ซึ่งเป็นการวัดค่าอัตราส่วนของ "ค่าไซน์มุมตกกระทบกับค่าไซน์มุมสะท้อน" ซึ่งเกิดในขณะที่แสงเดินทางจากตัวกลางหนึ่ง ไปสู่ตัวกลางอีกชนิดหนึ่ง แล้วนำค่าที่วัดได้ ไปเทียบค่าในตารางว่าตรงกันกับแก้วหรือกระจกชนิดใด
เนื่องจากกระบวนการผลิตแก้วและกระจกในปัจจุบัน ได้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาขึ้นตามวิวัฒนาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตปริมาณมากขึ้น จากศักยภาพทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมรูปแบบใหม่นี้ ได้ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์แก้วและกระจกในปัจจุบัน มีความแตกต่างกันน้อยมาก จนการตรวจวัดค่า RI เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถแยกชนิดหรือประเภทของแก้วหรือกระจกได้ทั้งหมด อีกทั้งการตรวจวัดค่า RI ไม่สามารถระบุถึง Original Source ของแก้วและกระจกได้ เทคนิค LA-ICP-MS จึงถูกนำมาเสริมและแก้ไขข้อจำกัดของการวิเคราะห์ด้วยการวัดค่า RI ให้หมดไป
เทคนิค LA-ICP-MS เป็นการวิเคราะห์ตามหลักการ Mass Spectrometry โดยรวมเอาคุณสมบัติของแสงเลเซอร์ มาทำงานร่วมกันกับระบบการทำงานของ ICP-MS ทำให้เทคนิคการตรวจวิเคราะห์มวลไอออน ขยายขอบเขตจนครอบคลุมชนิดของตัวอย่างที่เป็นของเหลว ของแข็ง และก๊าซ อีกทั้งกับผู้ตรวจพิสูจน์ ไม่ต้องเสี่ยงอันตรายจากการเตรียมตัวอย่างแบบเดิม กล่าวคือ ICP-MS ใช้ตรวจตัวอย่างที่เป็นของเหลว หรือสารละลาย เมื่อต้องการตรวจตัวอย่างที่เป็นของแข็ง ผู้ตรวจพิสูจน์จำเป็นต้องทำการย่อยตัวอย่าง ด้วยกรดเข้มข้น (Acid Digestion) เพื่อเปลี่ยนของแข็งให้เป็นสารละลายก่อน จึงสามารถทำการวิเคราะห์ได้
ในต่างประเทศ เทคนิค LA-ICP-MS ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในงานหลายแขนง เช่น งานทางธรณีวิทยา; logical, งานชีววิทยาประยุกต์;Biological งานโบราณคดี; Archaeological งานด้านสิ่งแวดล้อม ; Environmental งานด้านนิวเคลียร์ ; Nuclear งานวิทยาศาสตร์ของการทำโลหะผสมผสาน; Metallurgy Sciences การตรวจวิเคราะห์ทาง Micro analysis รวมถึงงานตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ด้วย หลักการทำงานของ LA-ICP-MS ก็เป็นหลักการเดียวกันกับ ICP-MS จะแตกต่างกันแค่ในส่วนของการเตรียมตัวอย่างเท่านั้น การที่ LA-ICP-MS ยังไม่เป็นที่รู้จักในประเทศไทย อาจเป็นเพราะมีราคาสูง การใช้งานและการประมวลผลยังซับซ้อนอยู่ และการปรับ Performance ของเครื่องหลังเปลี่ยนโหมดการใช้งานต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้งานที่ต้องเชื่อมต่อ 2 ระบบเข้าด้วยกันทุกครั้ง ในประเทศไทยพบว่าเทคนิค LA-ICP-MS มีการนำไปใช้ในงานการวิเคราะห์ความบริสุทธิ์ของอัญมณี ของสถาบันวิจัยอัญมณีฯ การตรวจวิเคราะห์แหล่งน้ำทะเล และใช้เพื่อการศึกษาวิจัยในมหาวิทยาลัยอีก 2 แห่ง สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จึงเป็นหน่วยงานเดียวที่นำหลักการ Mass Spectrometry และเทคนิค LA-ICP-MS มาใช้สนับสนุนงานการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์
วัตถุประสงค์ของการศึกษาและพัฒนาการตรวจวิเคราะห์แก้วและกระจก นอกจากเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่ามากที่สุด การตรวจวิเคราะห์แก้วและกระจก และการตรวจเปรียบเทียบเพื่อหา Original Source ของตัวอย่างนั้น ได้ดำเนินการโดยปฏิบัติตามวิธีมาตรฐานของหน่วยงานต่างประเทศ คือ Interpol และ มหาวิทยาลัย U.T.S. ประเทศออสเตรเลีย แล้วนำผลที่ได้จากการวิเคราะห์ มา Verified และปรับให้มีความเหมาะสมกับตัวอย่างวัตถุพยานในประเทศไทย ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันทางด้านวัตถุดิบ, ขั้นตอนและกระบวนการผลิต ทั้งนี้ก็เป็นเสมือนก้าวแรก ที่จะเปิดโลกทัศน์แห่งองค์ความรู้และใช้ประโยชน์จากหลักการด้านMass Spectrometry ได้อย่างที่ถูกต้อง สามารถดึงศักยภาพของเครื่องมือและนำเทคนิค LA-ICP-MS ไปปรับและประยุกต์ใช้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในงานตรวจพิสูจน์วัตถุพยานทางนิติวิทยาศาสตร์ชนิดอื่นต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น