วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

สืบอย่างไรให้ได้ความจริง


ความจริงการสืบสวน เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ นั่นคือธรรมชาติของความอยากรู้     อยากเห็น คงไม่มีมนุษย์คนใดที่ไม่เคยมีความอยากรู้อยากเห็น จะต่างกันก็เพียงพฤติการณ์ของความอยากรู้อยากเห็นเท่านั้นที่ไม่เหมือนกัน
                ใครมีความอยากรู้อยากเห็นมาก และจริงจังก็จะพยายามให้ได้รู้ในสิ่งที่อยากจะรู้นั้นจนได้ แม้ไม่เคยมีวิชาความรู้ในการสืบสวนมาก่อน โดยเขาเหล่านั้นจะใช้สามัญสำนึกและวิจารณญาณของตัวเอง ตามที่วิญญูชนทั่วไปพึงมี ค้นคว้า สืบเสาะ ฯลฯ จนสามารถรู้ในสิ่งที่อยากจะรู้นั้นได้ เช่น ภรรยาสามารถจับผิดสามีที่นอกใจไปมีภรรยาน้อยได้ โดยไม่ต้องไปเรียนวิชาสืบสวนจากที่ไหนมาก่อน นั้นเป็นเพราะภรรยาหลวงมีความอยากรู้อยากเห็นอย่างจริงจัง สามีไปมีภรรยาน้อยจริง ๆ หรือไม่ และสิ่งหนึ่งที่พวกเขาเหล่านั้นต้องทำ ก็คือการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล แล้วนำมาคาดเดาด้วยการสร้างจินตนาการ ตามสามัญสำนึกแห่งบุคคล บนพื้นฐานของเหตุและผล ตามข้อมูลที่ได้มา
                ดังนั้น การสืบสวนจึงมีหลักในการปฏิบัติคือ การรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคดีให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แล้วนำข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์ และคาดเดา ด้วยการสร้างจินตนาการ ตามสามัญสำนึกแห่งบุคคล บนพื้นฐานของเหตุและผล โดยตั้งเป็นสมมุติฐานแล้วพิสูจน์สมมุติฐานนั้น เพราะฉะนั้นข้อมูลของคดี      จึงเป็นปัจจัยอันสำคัญที่สุดในการสืบสวน
                โดยทั่วไปแล้ว ข้อมูล จะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
                1. ข้อเท็จจริง คือ ข้อมูลที่เป็นความจริง ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริงแล้ว
                2. ข้ออนุมาน คือ ข้อมูลที่คาดเดาเอาเอง  ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง เช่น คนร้ายน่าจะ มี 3 คน
ความหมายของการสืบสวนตาม ป.วิอาญา ม.2 (10) ซึ่งบัญญัติไว้ว่าการสืบสวน หมายถึง              การแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน ซึ่งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเพื่อที่จะทราบรายละเอียดแห่งความผิด จึงเป็นบทบัญญัติที่อธิบายนิยามของการสืบสวนได้เป็นอย่างดี
                หรืออาจกล่าวได้สั้น ๆ ว่า การสืบสวนคือการแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิด และเพื่อที่จะทราบรายละเอียดแห่งคดี
                เพราะฉะนั้น หัวใจของการสืบสวนก็คือการรวบรวมข้อมูล เพื่อหาข้อเท็จจริงนั่นคือ การนำข้อมูลมาแยกแยะ ว่าข้อมูลใดเป็นข้อเท็จจริง ข้อมูลใดเป็นข้ออนุมาน
                *ดังนั้นจึงนิยามได้ว่า วิธีการสืบสวนคือ
                                - กระบวนการรวบรวมข้อมูลทั้งหลายทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับคดี
                                - แล้วนำข้อมูลนั้นมาแยกแยะ ให้เป็นข้อเท็จจริง และข้ออนุมาน
                                - เพื่อนำมาวิเคราะห์คดีที่เกิดขึ้นว่าน่าจะเป็นเช่นใด
                                - ด้วยการสร้างจินตนาการ ตามสามัญสำนึกแห่งบุคคล
                                - บนพื้นฐานของเหตุและผล
                                - โดยตั้งสมมุติฐาน ด้วยการแยกเป็นประเด็นปัญหา
                                - และจัดลำดับความสำคัญ และเร่งด่วนของประเด็นปัญหานั้น
                                - แล้วรีบดำเนินการสืบสวนเพื่อพิสูจน์สมมุติฐานไปตามลำดับความสำคัญและเร่งด่วน อย่างมุ่งมั่น อดทน และต่อเนื่อง โดยมิชักช้า
                                - เพื่อพิสูจน์ความผิดและจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี
                                - โดยยึดหลักความจริงตามแนวทางของ
                                                - ตรรกวิทยา
                                                - จิตวิทยา
                                                - และปรัชญา
                                ตรรกวิทยา คือ วิชาที่ว่าด้วยเรื่องเหตุและผล ซึ่งการสืบสวนต้องใช้หลักของเหตุและผลเป็นสำคัญในการพิจารณาข้อมูลให้เป็นข้อเท็จจริง
                                จิตวิทยา คือ วิชาที่ว่าด้วยเรื่องพฤติกรรมของมนุษย์ การสืบสวนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของคนร้าย พยาน และผู้เสียหายโดยตรง เช่น การใช้หลักของพฤติกรรมมนุษย์ที่แสดงออกต่อสิ่งเร้า ไปสร้างเป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ใช้ในการจับเท็จหรือการพิจารณาพฤติกรรมของผู้ที่เรากำลังสอบปากคำ ดังนั้น การสืบสวนจึงต้องพิจารณาพฤติกรรมของคนร้าย ผู้เสียหาย และประจักษ์พยานเพื่อนำไปสู่การพิจารณาข้อมูลเป็นสำคัญ
                                ปรัชญา คือ วิชาที่มีผู้ให้ความหมายไว้มากมาย แต่โดยสรุปแล้วปรัชญา คือ วิชาที่ว่าด้วยการแสวงหาความรู้ที่เป็นจริงแท้แน่นอน ที่ไม่มีสิ่งใดจะจริงแท้ไปกว่านี้อีกแล้ว นั่นคือ ความรู้อันประเสริฐ คือไม่มีความรู้ใดที่ประเสริฐไปกว่านั้นอีกแล้ว
                                ปรัชญาที่เอามาใช้เป็นแนวทางในการสืบสวนนั้น คือ วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลที่ต้องวิเคราะห์อย่างปรัชญาว่า ข้อมูลนั้น ๆ เป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่ มีความจริงเหนือขึ้นไปกว่านั้นอีกหรือไม่ เช่น เราถามคนว่าบ่อน้ำอุ่นหรือเย็น ถ้ามีคนตอบว่าน้ำเย็น เราก็ต้องคิดต่อไปอีกว่า คนที่ตอบว่าน้ำในบ่อที่เย็นนั้น สภาพแวดล้อมหรือบริบทของเขาขณะนั้นเป็นอย่างไร ถ้าเขามาจากที่ร้อน เขาย่อมตอบว่าน้ำนั้นเย็น แต่ถ้าเขามาจากที่เย็น เขาย่อมตอบว่าน้ำนั้นอุ่น ฉะนั้นการที่คนตอบว่าน้ำเย็น ยังเป็นคำตอบที่ต้องค้นหาความจริงต่อไปว่า ที่เขาว่าเย็นนั้น เป็นเพราะเหตุใด เป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่ การสืบสวนจึงต้องพิจารณาข้อมูล โดยใช้แนวทางของปรัชญา ตรรกวิทยา จิตวิทยา และปรัชญา จึงเป็นแนวทางที่นำไปสู่การพิจารณาแยกแยะข้อมูลให้เป็นข้อเท็จจริง หรือข้ออนุมาน หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ในกระบวนการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์นั้น ผู้สืบสวนต้องคิดอย่างตรรกวิทยา จิตวิทยา และคิดอย่างปรัชญา
ฉะนั้นถ้าใครรวบรวมข้อมูลได้มาก แยกแยะข้อมูลเป็น วิเคราะห์เก่ง ก็จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ นั่นคือการพยายามหาข้อเท็จจริงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อะไรเป็นข้อเท็จจริง ให้ตั้งไว้เป็นหลักยึดข้อมูลใดเข้ากับข้อเท็จจริงที่นำมาตั้งไว้เป็นหลักยึดไม่ได้ ข้อมูลนั้นไม่ถูกต้องให้ตัดทิ้งอย่างสิ้นเชิง ข้อเท็จจริงจึงเป็นข้อมูลหลักที่จะเป็นแบบหรือแนวทางให้ข้อมูลอื่นมาสวมต่อได้อย่างสนิทสนมและเจือสม เหมือนกับการต่อภาพจิ๊กซอ ที่มีการต่อภาพไปเรื่อย ๆ จนภาพสุดท้ายประกอบกันกลายเป็นรูปที่สมบูรณ์
                ดังนั้นข้อมูลใดที่เป็นข้อเท็จจริงอยู่แล้ว ไม่ต้องพิสูจน์แล้ว จึงเป็นข้อมูลที่มีค่าที่ผู้ทำงานสืบวนทั่วไปปรารถนา
                กล่าวโดยสรุปแล้ว เมื่อเกิดคดีขึ้น จะมีบุคคลเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ 4 กลุ่ม คือ
                กลุ่มแรก  ผู้เสียหายที่ถูกประทุษร้าย ถ้าตายก็พูดให้ข้อมูลไม่ได้ นอกจากสภาพศพที่เกิดขึ้น ถ้าไม่ตายก็จะมีสภาพเป็นพยานบุคคลผู้หนึ่ง ซึ่งส่วนมากก็ให้ข้อมูลได้ไม่ทั้งหมด
                กลุ่มที่สอง  คนร้าย ซึ่งหนีไปแล้ว
                กลุ่มที่สาม  พยาน ซึ่งส่วนมากก็จะให้ข้อมูลได้ไม่หมดเช่นเดียวกับกลุ่มแรก
                กลุ่มที่สี่       ตำรวจผู้สืบสวน จะเป็นผู้ที่ไม่รู้อะไรเลย ก็จะเริ่มสืบสวนด้วย การรวบรวมข้อมูล
ด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามวิธีการสืบสวนที่กล่าวมาแล้ว ข้อมูลที่เป็นจริง จึงเป็นปัจจัยอันสำคัญที่สุดที่ต้องใช้ในการสืบสวน 

1 ความคิดเห็น:

  1. ได้ความรู้อีกแล้ว ผมอยากเป็นนักสืบเอกชน ครับ ไม่ทราบว่าเค้ามีเรียนที่ไหนกันครับ

    ตอบลบ