กระบวนการสืบสวนสอบสวนแบบ 360 องศา
ข้อเสนอแนวความคิด/ วิธีการเพื่อพัฒนาหรือปรับปรุงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
(สุดท้ายก็ส่งไม่ทัน...ดีแล้วไม่งั้นขายหน้าแย่)
หลักการและเหตุผล
ปัญหาอาชญากรรมในสังคมไทย ซึ่งเกิดจากการกระทำความผิดหรือการล่วงละเมิดสิทธิ์ของบุคคลอื่น ในทางกฎหมาย แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ(1)ความผิดในทางแพ่งและ(2)ความผิดในทางอาญา เช่น การลอกเลียนแบบผลิตภัณฑ์หรือการละเมิดลิขสิทธิ์ เพื่อลดต้นทุกการผลิตแต่ยังคงไว้ซึ่งผลกำไรที่เท่าเดิมหรือมากขึ้น การเอารัดเอาเปรียบเพื่อแสวงหากำไรจากลูกหนี้ ในการให้กู้ยืมเงินนอกระบบ ซึ่งส่งผลในรูปแบบต่างๆกันไป เช่นการฉ้อโกง การคอรัปชั่น การทำให้เกิดการเพิ่มจำนวนของผู้เสียผลประโยชน์ทางธุรกิจ การแทรกแซงทางการเมือง เพื่อผลประโยชน์ส่วนตนฯลฯ ทุกวันนี้ไม่ใช่สิ่งไกลตัวเราอีกต่อไป เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวฉันใด เมื่อเกิดเหตุอาชญากรรมขึ้นในสังคมใด แม้เพียงในสังคมหรือชุมชนขนาดเล็ก เมื่อปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีกระบวนการบังคับใช้กฎหมายมาควบคุมจัดการ ปัญหาอาชญากรล้นเมือง การเกิดอาชญากรรมจะเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน ไปจนถึงความมั่นคงระดับประเทศได้
ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาการและ นวัตกรรมในปัจจุบัน ทำให้เหล่าอาชญากรนำเอาประโยชน์ของนวัตกรรมเหล่านี้ ไปใช้ในทางเสื่อม คือใช้ก่ออาชญากรรมในรูปแบบใหม่ๆ ดังเห็นได้ตามหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้ ดังนั้นกระบวนการสืบสวนสอบสวนจึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน เปิดกว้างเพื่อรองรับอาชญากรรมในทุกรูปแบบ แต่การเล่นเกมส์หนูจับแมวอย่างเดียว คงไม่ใช่เรื่องสนุก ดังนั้นแนวทางการปฏิบัติการอาจกระทำได้ 2 แนวทางไปพร้อมกันคือ(1) การป้องปรามมิให้เกิดอาชญากรรมในรูปแบบเดิมซ้ำได้อีก โดยการวิเคราะห์สาเหตุและที่มาของการกระทำผิดที่เคยมีในอดีต แล้วอุดช่องว่างอันเป็นเหตุเสีย (2) การเตรียมมาตรการเพื่อรองรับอย่างเท่าทันถ้าอาชญากรรมเกิดขึ้น และสามารถแก้ไข-บรรเทาและเยียวยาผลที่เกิดขึ้นได้อย่างดี และสุดท้ายต้องสามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายได้ด้วย พิจารณาแล้วพบว่าข้อจำกัดและอุปสรรคในกระบวนการสืบสวนสอบสวน ที่พบได้บ่อย มี 3 ข้อหลัก คือ
1. ขอบเขตและอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงาน
2. ความร่วมมือจากบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3. หลักฐานหรือเอกสารที่สำคัญ ในการยืนยันการกระทำผิดเสียหาย, สูญหายหรือถูกทำลาย
จากประสบการณ์ทางนิติวิทยาศาสตร์ของข้าพเจ้าที่ผ่านมานั้น ทราบว่านิติวิทยาศาสตร์จัดว่าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการสืบสวน เนื่องจากงานนิติวิทยาศาสตร์ เป็นการสืบหาความเกี่ยวพันเชื่อมโยงระหว่าง Suspect – Scene - Evidence โดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทุกรูปแบบ-สาขา ผสมผสานเข้าด้วยกัน ด้วยเหตุผลเดียวกัน กระบวนการสืบสวนสอบสวน ก็ควรมีรูปแบบของการเป็นศาสตร์และศิลป์ผสมผสานกันกันอยู่ โดยศาสตร์คือการมีความรู้รอบในวิทยาการความรู้ด้านต่างๆ คนเพียงหนึ่งคนคงไม่สามารถรู้ไปทุกเรื่อง ดังนั้นการรวบรวมคนที่มีความรอบรู้และชำนาญในศาสตร์ต่างๆ เพื่อ Brain-Storm ให้ศาสตร์ทุกด้านสมบูรณ์ ยังต้องเป็นบุคคลที่มีศิลป์ในการคิดและวิเคราะห์ที่แตกต่างอย่างมี เหตุผล โดยทักษะนี้มักได้จากประสบการณ์การทำงานจริง เพราะต้องถ่ายทอดให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้นได้ และต้องอาศัยการวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างดี และครบถ้วนกระบวนความ สามารถพิจารณาและตัดสินใจได้ว่าควรดำเนินการในรูปแบบใด หรืออย่างน้อยก็ต้องสามารถวิเคราะห์ได้ว่าควรนำวิทยาศาสตร์รูปแบบ-สาขาใด มาประยุกต์และปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อคลี่คลายสถานการณ์, คดีความ หรือการกระทำความผิดที่ละเมิดกฎหมาย ได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ เช่น การตรวจวัตถุพยานทางฟิสิกส์ไม่ว่าประเภทใดก็ตาม ที่สามารถเชื่อมโยง หรือสามารถจำลอง พฤติการณ์และสิ่งที่เกิดขึ้นในที่เกิดเหตุได้ โดยใช้สิ่งต่างๆ ในสถานที่เกิดเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจ อาวุธที่ใช้ในการก่อเหตุ การตรวจพิสูจน์คราบเลือด รอยกระเซ็นของเลือด เศษชิ้นส่วนของผ้าผืนเล็กๆ สารเสพติดหรือแม้กระทั่งการตรวจไอระเหยที่ปะปนอยู่ในอากาศ รวมไปจนกระทั่งร่างกายของเหยื่อหรือผู้เสียหาย ซึ่งในกระบวนสืบสวนสามารถนำผลต่างๆเหล่านี้ เชื่อมโยงหาผู้กระทำความผิด และนำตัวผู้กระทำผิดนั้นมารับโทษตามบทลงโทษที่ระบุไว้ตามกฎหมายได้ ซึ่งในทางปฏิบัติการใช้บทกำหนดโทษตามกฎหมายอาญา อันนำผู้กระทำผิดไปสู่การดำเนินการควบคุม และป้องกันอาชญากรรมนั้น เป็นหน้าที่อันสำคัญของตำรวจ นักกฎหมาย นักสังคมวิทยา จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ผู้พิพากษาศาลคดีเด็กฯ พนักงานคุมประพฤติ นักทัณฑวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักสังคมวิทยา จิตแพทย์ แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ ล้วนมีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมได้ทั้งสิ้น โดย บางส่วนอาจเข้าไปมีบทบาทในกระบวนการสืบสวน หรืออาจเข้าไปมีบทบาทในกระบวนการสอบสวน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง กระบวนการสืบสวนสอบสวนในรูปแบบเดิมๆ มักถูกตั้งคำถามจากสังคม และไม่สามารถยืนยันให้เห็นถึงความโปร่งใสได้ เป็นเหตุให้สูญเสียความเชื่อมั่นในผลการปฏิบัติงาน ว่าไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรม หรือเกิดจากความลำเอียง จากพฤติกรรมการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แบ่งข้างแบ่งสีฯลฯ การ ยึดติดกับรูปแบบการปฏิบัติ ไม่มีความยืดหยุ่น หรือยึดติดกับรูปแบบที่เคยใช้ต่อๆกันมา เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กระบวนการสืบสวนสอบสวนยังคงล้าหลัง
แนวทางในการดำเนินการแก้ไขข้อจำกัดและอุปสรรคที่สามารถกระทำได้ง่าย และมีผลส่งเสริมให้การสืบสวนสอบสวนประสบความสำเร็จ และผลของการสืบสวนยังมีความแข็งแกร่ง น่าเชื่อถือมากขึ้น สรุปย่อได้ดังนี้ คือ
1. การบริหารจัดการและวางแผนแบบ Storyline (Steve Bell and Sally Harkness)
โดย การกำหนดบทบาท, หน้าที่และขอบเขตการปฏิบัติงานที่ชัดเจน ครอบคลุมการปฏิบัติงานที่กระบวนการสืบสวนสอบสวน ต้องเข้ามีส่วนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง สัมพันธ์และเชื่อมโยง โดยอาศัยบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิ และมีประสบการณ์ด้านการสืบสวนสอบสวนมานาน และต้องมากเพียงพอ ในการจะวิเคราะห์ให้ได้ว่าการสืบสวนสอบสวน ในกระบวนการสืบสวนสอบสวน ตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้นประกอบด้วยสิ่งใด มีหน่วยงานใดที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบเจออุปสรรคใดบ้าง และมีสิ่งใดบ้างที่อาจ เกิดขึ้นได้ นักสืบสวนสอบสวนจะสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะะหน้าได้อย่างมีประสิทธภาพ เนื่องจากเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ไว้แล้ว โดยกระบวนการนี้ต้องอาศัยความละเอียดอย่างมาก ต้องใช้ข้อมูลทุกอย่างทั้งศาสตร์และศิลป์ประกอบเข้าด้วยกัน แล้วตีแผ่ให้เห็นภาพองค์รวมทั้งหมด อย่างละเอียด ทั้งนี้เพื่อระบุอำนาจหน้าที่ และขอบเขตการปฏิบัติงานได้อย่างครอบคลุม และสามารถเตรียมแผนมาตรการในการแก้ไขข้อปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นซ้ำได้อีก หรือภาษาชาวบ้านว่าเมื่อเดินไปแล้วต้องไม่สะดุดตอล้มลง หรือ เมื่อเดินไปแล้วสะดุดตอจะจัดการอย่างไร การวางแผนก่อนปฏิบัติการสามารถลดระยะเวลา เมื่อปฏิบัติงานจริงได้อย่างมาก
2.การจูงใจตามหลักการของ Abraham Maslow
ด้าน ความร่วมมือของประจักษ์พยาน, บุคลากรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น จำเป็นต้องแยกอุปสรรคจากคน ออกจากหน่วยงานเสียก่อน แล้วปฏิบัติการสืบสวนสอบสวนโดยต้องใช้วิจารญาณในเลือกใช้หลักการ 3 ข้อต่อไปนี้จัดการกับคน,เวลาและสถานที่อย่างเหมาะสม นั่นคือ (1) Win-win situation (2) แพ้ เพื่อชนะ และ (3) คิดนอกกรอบแต่ตั้งอยู่บนเหตุผลที่อธิบายได้ ทั้งนี้การใช้แนวคิดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นักสืบสวนสอบสวนต้องตระหนักและมีความเข้าใจ ว่าเป้าหมายหนึ่งเดียวของการสืบสวนสอบสวนคือสิ่งใด การที่ปฏิบัติงานโดยนึกถึงแต่จะการจะได้เป็นเจ้าของผลงานนั้น ก่อให้เกิดการแข่งขันในทางลบ คือแทนที่จะเป็นการแข่งขันเพื่อกระตุ้นให้เกิดความฮึกเหิม และเป็นแรงกระตุ้นให้บรรลุเป้าหมายของการสืบสวนสอบสวน กลับกลายเป็นการขัดแข้งขัดขา การทำสงครามน้ำลาย และการแกร่งแย่งกันเอง เมื่อมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ ก็เป็นชัยชนะบนความล้มเหลวพร้อมมีของแถมติดมา นั่นคือศัตรูและคู่อริ ดังมีตัวอย่างปรากฏให้เห็นแล้วในหลายหน่วยงาน การส่งเสริมให้เกิดมิตรภาพอันดี โดยการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน โดยวางแผนและจัดสรรให้ทุกฝ่ายได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ ยกย่องให้เกิดความภาคภูมิใจเมื่องานสำเร็จ การยกย่องผู้อื่นให้สูงขึ้น มิใช่ความพ่ายแพ้ หรือเสียหน้า ตรงกันข้าม กลับเป็นชัยชนะ คือสามารถบรรลุเป้าหมายในภารกิจได้
3. นวัตกรรมการทำงาน
เป้า หมายในการนำใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียบร้อยและปลอดภัย อาจต้องมีการบูรณาการกับบุคลากรจากหน่วยงานอื่น หรือจัดฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ให้มีความรู้-ความชำนาญเพียงพอในการใช้ ประโยชน์จากนวัตรกรรมนั้น ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เช่นในกระบวนการจับกุมผู้กระทำผิด นอกจากการวางแผนล่วงหน้า มีการกำหนดยุทธวิธีที่ชัดเจน อาจนำนวัตกรรมเข้ามาเพิ่มน้ำหนักให้หลักฐาน เช่นการติดตั้งกล้องวงจรปิดขนาดจิ๋วเพื่อบันทึกวิดีโอ เก็บภาพพฤติกรรมของผู้กระทำผิดทุกขั้นตอน ทั้งก่อนและหลังการปฏิบัติการ โดยที่ผู้กระทำความผิดไม่รู้ตัว จะช่วยลดความรุนแรงที่อาจเกิดขณะจับกุมได้ เนื่องจากช่วยลดการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้กระทำผิด ในประเทศเกาหลี เขตพื้นที่กังนัม ได้ทำการติดตั้งกล้องวงจรปิด ทุกๆ 400-800 เมตร โดยกล้องนั้นจะหมุนและบันทึกภาพได้ 360 องศา โดยมีการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยเฝ้าระวังตลอดเวลา เมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้น เจ้าหน้าตำรวจสามารถไปถึงสถานที่เกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว ผลจากการติดตั้ง CCTV ช่วยให้จำนวนการก่ออาชญากรรมในพื้นที่กังนัมลดลงอย่างมาก ต่อมาจึงมีการปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน นี่เป็นเพียงตัวอย่างจากการใช้นวัตกรรมทำงาน และนวัตกรรมเหล่านี้ยังมีอีกมากมาย ซึ่งขึ้นอยู่กับนักสืบสวนสอบสวนจะเลือกใช้ให้
(อ้างอิงข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจประเทศสาธารณรัฐเกาหลีใต้; NISI and KNPU)
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
การ ผสมผสานรูปแบบการสืบสวนสอบสวนเดิม เข้ากับแนวทางการสืบสวนแบบนิติวิทยาศาสตร์ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งกำลังคน, หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีอันทันสมัย ช่วยให้การปฏิบัติภารกิจ ในการสืบสวนสอบสวนเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การวางแผนทำให้รูปแบบการปฏิบัติภารกิจชัดเจน การแช่แข็งสถานที่เกิดเหตุโดยการบันทึกภาพและถ่ายวิดีโอ ช่วยเพิ่มความมั่นใจและความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน การจัดทำบันทึกและจดรายละเอียดในเอกสารสากล หรือแบบฟอร์มกลาง การบันทึกทุกอย่างที่เกิดขึ้นขณะปฏิบัติการ โดยละเอียดพร้อมกับแนบเอกสารต้นฉบับที่เขียนด้วยลายมือไว้ด้วย ทำการจัดเก็บอย่างเป็นสัดส่วน เพื่อง่าย สะดวก และชัดเจนในกรณีที่ต้องตรวจสอบ ทั้ง นี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหนึ่งเดียวของการสืบสวนสอบสวน คือการพิสูจน์ข้อเท็จจริงและนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นที่เชื่อมั่นไว้วางใจของประชาชน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น