วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สร้างโลกทัศน์ที่ดีให้แก่การเมืองจะดีกว่ามั้ย


ทำอย่างไรคนไทยจึงจะใช้น้ำมันราคาถูกและไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าน้ำมันให้กับต่างประเทศแบบทุกวันนี้
--
ถ้าสังคมช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ลองปรับเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็น
ให้สอดคล้องกับรูปแบบแนวคิด
Creative ในปัจจุบัน เพื่อสร้างโลกทัศน์ที่ดีให้แก่การเมืองจะดีกว่ามั้ย
ผมนั่งอ่านมุมมองและความคิดของนักปราชญ์และผู้รู้ด้านประชาธิปไตยแล้วผมเกิดไอเดียบางอย่างเกิดขึ้นมา
และผมมองว่าเป็นความคิดต่างและมองมุมต่างในแง่ดี ที่เหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาในเรื่องของความแตกต่างทางด้านความคิดและความขัดแย้งในสังคมปัจจุบันได้เป็นอย่างดีนะครับ  เพราะโดยส่วนมากคนไทยมักมองคนที่มีความคิดเห็นในมุมต่างเป็นศัตรูที่อยู่ตรงกันข้ามกับความคิดของตน  เลยกลายเป็นว่าการมองมุมต่างเพียงมุมมองเดียว สามารถทำให้เกิดผลความเห็นขัดแย้งที่แพร่สะพัดไปได้อีกหลากหลายมุมมองทีเดียว
นั่งอ่านคำวิพากษ์วิจารณ์ตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่งต่างๆในทางการเมืองแล้วทำให้ผมมองเห็นความเป็นอัตตาของมนุษย์มากขึ้นได้อย่างชัดเจน  การที่คนทุกวันนี้จับกลุ่มสุมศีรษะนินทา เอ้ย..ให้ข้อมูลแลกเปลี่ยนกันโดยถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นทางความคิดของคนแต่ละคนนั้น   ส่วนตัวผมมองว่ามีประโยชน์แต่มุมมองหลักที่ประชาชนคนไทยควรร่วมมือร่วมใจกันสร้างให้เห็นเป็นรูปธรรม จับต้องได้ในวันนี้น่าจะเป็นเรื่องของมุมมองและความเห็นที่จะนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์เสียมากกว่า  ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เมื่อเห็นใครสักคนที่เราไม่ชอบเดินคุยมากับใครสักคนที่เราเองก็ไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นหน้า แต่บังเอิญวินาทีนั้นเพื่อนใหม่ของคุณคนนี้ดันเดินเข้ามาหาคุณพร้อมกับคนที่เป็นศัตรูกับคุณ ผมกล้าพนันได้เลยนะครับว่า หลังจากช่วงเวลาแห่ง
first impression ผ่านไป หากบังเอิญว่ามีบางอย่างที่สร้างความไม่พอใจขึ้น กับพื่อนใหม่คนนี้คุณจะมองหน้ากันไม่ได้อีกเป็นระยะเวลาอย่างยาวนาน เพียงเพราะเหตุผลที่ว่าอคติเกิดจากการไม่ชอบขี้หน้าศัตรูคุณพาดพิงอิงมาถึงเพื่อนใหม่นี้ด้วย  ถามว่ามีเหตุผลอะไรมั้ย...สำหรับคนที่วางหัวใจเป็นกลางได้อย่างแท้จริง  ผมบอกได้เลยว่ามีแต่น้อย แต่ความคิดและมุมมองเช่นที่ผมว่ามานี้ จะให้ผลที่ดีมากๆกับบุคคลที่มีความเห็นในเรื่องส่วนตัว (ขอย้ำว่าเป็นความเห็นที่เป็นส่วนตัว) ที่มีต่อตัวบุคคล และจะช่วยลดความเป็นตัวตนของบุคคลที่มีอำนาจในสังคมลงได้มากทีเดียว ด้วยเหตุผลที่อย่างน้อยที่สุด คุณได้ตัดเอาความเป็นหัวโขนของคนๆหนึ่งที่เดินถือออกมาจากบ้าน เก็บเข้ากระเป๋าไป คนๆนี้ก็จะเหลือเพียงหัวโขนที่แสดงออกได้ทางไอเดียหรือความคิดแบบ Creative ได้อย่างเดียวแล้วนะครับ เพราะว่าคุณถอดเอาหัวโขนของเขาออกไปแล้ว
เหลือก็แต่เพียงบทบาท ภาระและหน้าที่ที่จะต้องมีในตัวบุคคลที่ดำรงอยู่เท่านั้น  เมื่อเราถอดเอาความคิดเห็นที่เป็นเฉพาะในมุมมองของความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับงานในหน้าที่ของคนๆนั้น จะสะท้อนให้คนในสังคมมองเห็นความสำคัญในตัวของคนๆนั้นที่มีต่อความรับผิดชอบต่องานในหน้าที่  มากกว่าที่จะพุ่งประเด็นลงไปขุดคุ้ยค้นหาว่าต้นตระกูลนับแต่โบราณนานมา บุคคลผู้นี้เป็นใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน เพราะสำหรับผม...สิ่งเหล่านี้ไม่สำคัญเท่ากับสิ่งที่เขาคนนั้นกำลังกระทำอยู่ ณ เวลาในปัจจุบันขณะนั้น ซึ่งสมควรเป็นสิ่งที่คนในสังคมควรหยิบขึ้นมาคิดพิจารณามากกว่าที่จะไปเอาใจใส่ในเรื่องของที่มาที่ไปของเขา  ผมเชื่อว่า หน้าที่การงานมีความสำคัญมากกว่าตัวบุคคล และมันสะท้อนให้เห็นถึงความรับผิดชอบที่เขากระทำได้ชัดเจนกว่าการจินตนาการตัวเองขึ้นมาสักตัวหนึ่ง  แล้วให้ตัวอวตารตัวนี้เล่นบทต่างๆในสังคมตามพื้นฐานและหน้าที่สามัญ นอกจากจะช่วยลดในเรื่องของการใช้อำนาจและอิทธิพลส่วนบุคคลด้วยแล้ว ยังเป็นการลดและแก้ไขปัญหาความเห็นต่างที่เป็นปัญหาต่อการปรองดองของประเทศชาติขณะนี้ด้วยนะครับ
ผมมองว่า...
คนไทยน่าจะเลิกใส่ใจที่ตัวตนของคนแล้วหันมาให้ความสำคัญ  กับเนื้องานที่คนๆนั้นรับผิดชอบมากกว่าจะมาด่ากันสาดเสียเทเสีย โดยต่างคนต่างหยิบความไม่ได้เรื่องของตัวเองมาประณามคู่ต่อสู้ ...เพราะต่อให้ฝีปากกล้าแค่ไหน...ถ้าไม่ด่าไปให้ลึกถึงตัวเนื้อหาสาระที่คนๆนั้นทำ ไม่ได้เฉพาะเจาะจงลงไปที่ตัวเนื้องานเสียที ความสร้างสรรค์ที่ควรจะมีภายหลังการวิพากษ์วิจารณ์นั้นคงจะเกิดได้น้อยมาก  อีกทั้งตัวอย่างเนื้อหาสาระที่มักหยิบมาเป็นหัวข้อปะทะคารมกันเท่าที่ผมสังเกตส่วนมากหาจุดลงแทบไม่ได้เลย คือเป็นคำค้านความเห็นของอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มีความคิดที่สร้างสรรค์ Creative หรือ imagination ขึ้นมาได้เลย  สำหรับผม...มองว่าการวิพากษ์วิจารณ์ตัวบุคคลในลักษณะเช่นนี้ก่อให้เกิดความสร้างสรรค์ที่น้อยกว่าการวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ของวิชาการที่จะมาพร้อมกับเนื้องานหรือผลงานที่คนๆนั้นรับผิดชอบดูแลอยู่
และการจะด่ากร่น ขุดชาติตะกูลมาด่าใส่กันอย่างทุกวันนี้ เรื่อยๆ ต่อไปมันจะกลายเป็นประเด็นปัญหาที่ทำให้คนในสังคมเข้าหน้ากันไม่ติด  จะเดินไปไหนมาไหนก็ต้องใส่หน้ากากที่ทำให้คนอื่นเชื่อว่าตัวเองเป็นคนดี...ผมมองว่ามันทำให้เรื่องบางเรื่องจบลงได้ยาก  เหตุผลก็เพราะการถกเถียงกันในลักษณะเน้นไปที่อัตตาของบุคคลแต่ละคนนั้น ผลร้ายที่สุดก็คือการมองหาความเป็นตัวตนของตัวเองไม่เจอ  ต้องเป็นคนประเภทที่มีความกล้าเท่านั้นที่จะผลักดันตัวเองขึ้นไปยืนอยู่แถวหน้าๆในสังคมทุกวันนี้ได้ เลยกลายเป็นว่าใครพูดเก่ง ฝีปากเก่ง ให้ความอารักขาลิ้นของตนเองได้ดี มันจะเป็นตัวผลักดันและสนับสนุนให้คนๆนั้นเติบโตและมีคุณค่าขึ้นมา โดยการใช้วาจาและคำพูดเป็นอาวุธนั้นเองนะครับ  การวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะนี้ก็ให้เกิดช่องว่างและความเสียหายต่อบุคคลที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากเสียยิ่งกว่าการหยิบเรื่องส่วนตัวสักเรื่องไปกรุข่าวและสร้างประเด็นโจษขานขึ้นมา ดังที่ใครๆชอบกล่าวว่าผลักดัน  เจ็ดัน อะไรประมาณนี้นะครับ  สิ่งที่ผมห่วงก็เพราะความเห็นในลักษณะนี้สามารถสร้างความสับสนและยุ่งเหยิงกลับคืนให้กับสังคมได้ไม่สิ้นสุด ละอาจกลายเป็นประเด็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้หากว่ามีการเจรจาเพื่อปรานีประนอมกันในสังคมนั้นไม่ลงตัว เนื่องจากที่มาและสาเหตุของความขัดแย้งจะถูกกัดกินลึกลงไปถึงเนื้อในความเป็นตัวตนของผู้ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์  อธิบายได้ด้วยคำสั้นๆเลยนะครับว่าผลกระทบต่อบุคคลคนนั้นทุกแง่มุมเสียศูนย์ทันที  ไม่ว่าคุณงามความดีที่เขาสร้างและสั่งสมมาจะมีมากมายเท่าไหร่ ก็จะไม่เกิดประกายฉายแสงแห่งเหตุผลให้คนได้คิดเพราะมัวแต่ไปติดอยู่ในเยื่อหุ้มแห่งความมีตัวตน หรือที่เราเรียกว่าอัตตาอยู่นั่นเองนะครับ--มุมมองของผมหากว่าต้องการจะวิพากษ์ วิจารณ์การเมือง ผมมองเอาเองนะครับ ว่าก็สมควรต้องอ้างอิงลงไปในเนื้อหาสาระและรายละเอียดของงานมากกว่าเดิม อยากเสนอให้ให้มีผู้รู้หรือนักปราชญ์หยิบชิ้นงานที่กำลังเป็นที่ให้ความสนใจหรือกำลังเป็นประเด็นปัญหาเหล่านั้นขึ้นมานำเสนอและ ช่วยกันชี้นำให้เกิดความรู้ถูก เข้าใจถูกให้กับคนในสังคม (คล้ายกับการนำเสนอความจริงนั้นแหละนะครับ แต่เราตัดความเป็นตัวบุคคลออกไป เพื่อช่วยกันสร้างความเข้าอกเข้าใจให้กับประชาชนมากที่สุดในเรื่องหรือหัวข้อที่วิพากษ์วิจารณ์นั้นๆ และผมยังมองเห็นว่าการออกความคิดเห็นในลักษณะหยิบชิ้นปลามันนี้ค่อนข้างที่จะง่ายกว่าในการนำเสนอเหตุผล เพื่อแก้ไขปัญหาหรือหักล้างอ้างอิงความคิดเห็นส่วนตัวของกันและกันนะครับ
หากคนในสังคมให้ความสำคัญลึกลงไปในเนื้อหาสาระในสิ่งที่ต้องการวิจารณ์มากกว่าการให้ความคิดเห็นส่วนตัว  คือช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์การทำงานให้ออกมาในรูปแบบไม่ระบุตัวบุคคล แต่สะท้อนให้เห็รแง่มุม Creative ได้อย่างสร้างสรรค์ บวกความมีจินตนาการ ผมมองว่าจะเป็นการแสดงออกถึงความคิดและมุมมองเป็นประโยชน์และสะท้อนถึงวิธีการแก้ไขปัญหาในรูปแบบต่างๆได้เป็นอย่างดี  โดยที่ผู้วิพากษ์วิจารณ์พยายามเลี่ยงที่จะหยิบเอาตัวบุคคลแต่ละบุคคลขึ้นมาสาธยายสารพันปัญหาที่เกี่ยวกับตัวเขา  เกี่ยวข้องกับชีวิตที่เป็นส่วนตัวของเขา และพยายามมองหาความน่าสนใจในมุมมองอย่างอื่นที่ควรมองเห็นได้ง่ายๆ ไม่ต้องไปขุดคุ้ยถึงชาติตระกูลที่บ้าน ผู้ให้กำเนิด บิดามารดาเป็นใคร ประกอบอาชีพอะไร เพียงเพื่อเจตนาเดียวคือต้องการค้นหาผู้ที่จะมามีบทบาทเป็นผู้รับผิดชอบให้กับสังคมในการทำหน้าที่ตรงนั้น  มุมมองและประเด็นปัญหาจะเพิ่มเติมได้หลากหลาย เกิดความคิดเห็นเชิง creative หรือทฤษฎีความเข้าใจใหม่เป็นจำนวนมาก ช่วยเพิ่มรอยหยักในสมองได้อีกเยอะทีเดียวนะครับ  มุมมองของผมนะ...หากเราคนไทยเปลี่ยนการวิพากษ์วิจารณ์ให้เห็นมุมมองทางการเมืองที่สะท้อน
ให้สังคมเห็นความแตกต่างและความหลากหลายทางความคิดให้เห็นชัดเจนจนเกิดประโยชน์สูงสุดโดยสามารถนำความคิดเห็นนั้นเป็นตัวนำทางไปสู่ความคิดเห็นที่เป็นกลาง  ความคิดเห็นที่ถูกต้องและเป็นมุมมองมาตรฐานมากกว่าจะพยายามใส่ความรู้สึกของตัวเองลงไปในคำพูด  ศักยภาพทางการเมืองของคนไทยในเรื่องของความคิดวิเคราะห์จะก้าวหน้าและเติบโตขึ้นเป็นอย่างดี  อยู่ที่ผู้หลักผู้ใหญ่สมัยนี้กล้าเพียงพอหรือไม่ที่จะปรับพฤตึกรรมและมุมมองของตนเองให้หันเข้าหายุคแห่งการสื่อสารด้วยระบบดิจิตัลของทุกวันนี้ .ซึ่งล้วนต่างเข้าใจดีว่ามันมีความแพร่ที่รวดเร็วมากน้อยเพียงใด   
การถ่ายทอดความคิดเห็นในเนื้องานออกมาทางสังคม ให้สังคมได้ช่วยกันคิด เห็นแล้วช่วยกันสร้างมุมมองต่อยอด ช่วยกันตกผลึกความคิดรวบยอดที่สมบูรณ์ออกมา น่าจะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถนำเสนอเพื่อเป็นทางออกของความขัดแย้งรุนแรงที่เกิดจากความเห็นต่างในวันนี้ได้อีกระดับหนึ่ง  อีกทั้งยังเป็นการฝึกให้ตนเองเป็นคนที่คิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ ไม่คิดลบ  คิดเห็นอะไรก็จะมีความเป็นกลางมากขึ้น ซึ่งความเห็นในลักษณะที่เป็นกลางเหล่านี้ จะสะท้อนให้เห็นความเป็นเนื้อเดียวกันทางความเห็นของสังคมนั้นๆได้อีกระดับหนึ่งทีเดียว  จะไม่ลองทบทวนและวกกลับความคิดสักนิดดูหรือครับ ผมมองว่ามันมีประโยชน์กว่าการสาดสีเข้าหากัน และยังช่วยเป็นยาปรองดองผสานหัวใจที่แตกร้าวในสังคมได้ด้วย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น